ภาพรวมโครงการ
ย้อนกลับไปกว่าสามสิบปีก่อน พื้นที่บนดอยสูงในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หากมองจากมุมมองของนก คงเป็นเพียงผืนดินสีน้ำตาลแดงของภูเขาหัวโล้นทอดยาวสุดลูกหูลูกตา แซมด้วยจุดสีเขียวเล็กจ้อยกระจายตัวอยู่เพียงประปราย
ดอยตุงในอดีตคือดินแดนที่ผู้คนในพื้นที่แห่งนั้นเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและขาดความรู้ด้านการเกษตร มีชีวิตที่แร้นแค้นและตกอยู่ในวังวนของปัญหา นำมาซึ่งการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ปลูกและค้าสิ่งเสพติดขายให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการขายและเสพยาเสพติด รวมถึงการค้าประเวณีเพื่อหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนนำมาสู่การสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึงในพื้นที่เมื่อสมเด็จย่าเสด็จฯ มาเยือนดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 และทรงตระหนักว่ารากเหง้าของปัญหา คือ ความยากจนและขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เมื่อพระชนมายุ 87 พรรษา ซึ่งเป็นวัยที่หลายคนลงความเห็นว่าควรพักผ่อน แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะทรงงานต่อเนื่องดังที่เป็นมา
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เริ่ม ‘ปลูกคน’ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน บนความเชื่อสำคัญที่ว่า หากสร้างหนทางให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากวงจร ‘ความเจ็บป่วย ความยากจน และความไม่รู้’ ได้ ปัญหาสังคมและการทำลายธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จะหมดไปในที่สุด สมเด็จย่าจึงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และชีวิตชาวไทยภูเขา ดังพระราชดำรัสที่ว่า

ตกลงฉันจะมาปลูกบ้านที่นี่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แต่ถ้าไม่มีโครงการดอยตุง
ฉันก็จะไม่มาปลูกบ้านที่นี่
ฉันอยากปลูกป่ามาสิบกว่าปีแล้ว
แต่ไม่มีใครรับปากฉัน
แม้เราจะหวังให้เห็นความสำเร็จเกิดขึ้นในชั่วพริบตา แต่ความจริงนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาใดสำเร็จได้ชั่วข้ามคืน โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงแบ่งการพัฒนาทั้งหมดออกเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 : ‘อยู่รอด’
ขั้นแรกเป็นการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต วางระบบสาธารณูปโภคและสาธารณสุข เพื่อให้ชุมชน ‘อยู่รอด’ พ้นจากความอดอยาก และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพระยะต้น โดยไม่บุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพื่อให้ชาวบ้านสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และลดปัญหาหนี้สินในครัวเรือน
อาชีพแรกบนดอยตุงที่มาพร้อมกับการฟื้นฟูผืนป่าคือการปลูกพืชเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้มอบสิทธิ์ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของต้นกาแฟ หากใครดูแลต้นกาแฟได้ผลผลิตดี มีคุณภาพก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย ความรู้สึกเป็นเจ้าของทำให้ชาวบ้านเอาใจใส่และดึงศักยภาพของตนเองมาใช้อย่างเต็มที่ จนหลายคนสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการกาแฟได้ในที่สุด พืชเศรษฐกิจอีกหนึ่งประเภทคือแมคคาเดเมีย ซึ่งเป็นถั่วราคาสูง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายและขายได้ราคาดี อีกทั้งยังยืนต้นอยู่ได้นาน ถ้าดูแลดีๆ ก็เปรียบเสมือนเพื่อนคู่ครอบครัวที่เติบโตไปพร้อมลูกหลาน


จากนั้นเข้าสู่การพัฒนาขั้นถัดมาคือ
ระยะที่ 2 : ‘พอเพียง’
เน้นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับภูมิสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อปพื้นฐานให้ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ระยะยาวที่มั่นคงได้ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จัดสรรอาชีพรองรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานประเภทอื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงานในโรงงานแปรรูป งานหัตถกรรม และยังมีงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมไปถึงงานด้านการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความรักในถิ่นฐานบ้านเกิด

เพื่อให้การพัฒนานั้นก้าวเดินไปข้างหน้า และเป็นหนทางที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนดอยตุงอย่างยั่งยืน การส่งเสริมอาชีพสุจริตในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมในนาม “แบรนด์ดอยตุง” จึงถือกำเนิดขึ้น ดอยตุงสามารถเลี้ยงตัวเองได้ตั้งแต่ปี 2543 ด้วยรายได้จากธุรกิจเพื่อสังคมต่างๆ 5 กลุ่ม ได้แก่ หัตถกรรม อาหารแปรรูป คาเฟ่ เกษตร และการท่องเที่ยว ถือเป็นการสร้างต้นแบบในการยืนหยัดด้วยตนเองให้กับชาวบ้าน รายได้ที่ได้จากธุรกิจเพื่อสังคมบนดอยตุง ส่วนหนึ่งคืนกลับสู่ชาวบ้านและชุมชน ส่วนหนึ่งนำมาใช้ในการพัฒนาในด้านสาธารณสุข การศึกษา และสิ่งแวดล้อมบนดอยตุงนั่นเอง
แบรนด์ดอยตุง

เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ผลิดอกออกผลจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ หัวใจหลักของการสร้างธุรกิจอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพคน การบริหารจัดการธุรกิจอย่างมืออาชีพ และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังแนวพระราชดำริที่สมเด็จย่าทรงริเริ่มไว้ ไม่เพียงผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ากับการบริหารจัดการทางธุรกิจที่ทันสมัยอย่างมืออาชีพเท่านั้น หากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ยังจัดหานักออกแบบร่วมสมัยเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ พัฒนาทักษะต่างๆ ให้ชาวบ้านสามารถต่อยอดและนำไปสู่การพึ่งพิงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งทรัพยากรจากภายนอก ทั้งยังสร้างช่องทางการตลาดที่เผยแพร่ให้ทั้งสินค้าและบริการของแบรนด์ดอยตุงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ
doitung.com

ปัจจุบันโครงการพัฒนาดอยตุงฯ อยู่ในก้าวย่างสำคัญของการพัฒนาไปสู่
ระยะที่ 3 : ‘ยั่งยืน’
โดยได้ก้าวกระโดดจากจุดเริ่มต้นที่เป็นโครงการปลูกพืชทดแทนยาเสพติดสู่โครงการพัฒนาทางเลือกที่หลากหลายในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้ชุมชนพ้นความยากจน เลิกยุ่งเกี่ยวกับการปลูกพืชเสพติดและเสริมศักยภาพของชาวบ้านให้มีทักษะ มีความคิด และมีความสามารถทางธุรกิจ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติมอบตราสัญลักษณ์ UNODC ติดบนผลิตภัณฑ์แบรนด์ดอยตุงเพื่อยืนยันความสำเร็จจากการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีด้วยแนวทางการพัฒนาการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน ปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างศักยภาพอย่างเต็มที่โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ใช้แนวทางการสอนแบบมอนเตสซอรี (Montessori) กับเด็กปฐมวัย เน้นสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านกระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) ตลอดจนกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายครอบคลุมไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ทั้งการเรียนรู้ด้วยภาระงานเป็นฐาน (Task-Based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบทำโครงงาน (Project-Based Learning) และการเรียนรู้พื้นฐานและทักษะอาชีพ (Vocational Learning) ที่สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่พร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิต ปั้นผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง สามารถนำชาวบ้านพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองต่อไปได้อย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559 โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เร่งผลักดันการเรียนการสอนภาษาไทยแก่เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยเรื่องการศึกษาภาษาไทยของเยาวชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายลดจำนวนเด็กที่อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ให้เป็นศูนย์
ปัจจุบันมีนักเรียนในพื้นที่ที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อสานต่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมองจากมุมมองของนกในวันนี้ จะเห็นว่าเมล็ดพันธุ์แห่งแรงบันดาลใจที่สมเด็จย่าทรงหว่านไว้ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย เติบโตกลายเป็นเนินเขาเขียวชอุ่มสุดลูกหูลูกตา ภายใต้ร่มเงานั้นคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนของราษฎรในพื้นที่