ต้นไม้ทุกต้นและผืนแผ่นดินทุกตารางนิ้วในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีองค์ความรู้อันมีคุณค่ามหาศาลแฝงอยู่ เปรียบเสมือนแหล่งรวมประสบการณ์และบทเรียนการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาความยากจนอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปปรับใช้ในบริบทที่แตกต่างกันได้
การเป็นต้นแบบให้คนเรียนรู้และนำไปแก้ปัญหาในพื้นที่ตัวเองนำมาสู่การเป็น ‘มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต’ หรือห้องเรียนที่สร้างคนรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ช่วยลดช่องว่างทางความคิดและทางเศรษฐกิจในสังคม ระหว่างคนเมืองและพื้นที่ห่างไกล


ปัจจุบัน โครงการพัฒนาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โดยเฉพาะที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ต้อนรับผู้คนจำนวนมากที่แวะเวียนมาศึกษาดูงาน ทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน มหาวิทยาลัย องค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา โดยมีนักพัฒนาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในห้องเรียนแห่งนี้ ผู้เรียนจะได้ลองถอดรองเท้าคลุกฝุ่นดิน ลงพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงของชาวบ้าน ได้เรียนรู้และสัมผัสโลกความจริง เพื่อช่วยกันเยียวยาคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินเดียวกัน
โจทย์และเส้นทางที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กำลังก้าวเดินต่อไป คือ ทำอย่างไรให้องค์ความรู้ที่มีเกิดประโยชน์กับสังคม ประเทศไทย และโลก เพื่อให้ศาสตร์พระราชาและตำราสมเด็จย่าออกเดินทางไกลไปช่วยเหลือผู้คนได้ไม่สิ้นสุด