การลงนาม MOU โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่ป่าชุมชนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 10,000 ไร่ ระหว่างมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกลไกการพัฒนาศักยภาพชุมชน และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนชุมชนในการขึ้นทะเบียน T-VER เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตที่จะช่วยพัฒนากลไกดูแลป่าและสร้างรายได้แก่ชุมชนในระยะยาว นับเป็นพันธสัญญาระหว่างพันธมิตรที่จะเดินเคียงข้างในแนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน ESG
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวถึงการลงนาม MOU ในครั้งนี้ว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่า โดยเริ่มจากการเปลี่ยนคนปลูกฝิ่นมาเป็นคนปลูกป่า และสะสมความรู้ด้านการปลูกป่ามากว่า 30 ปี ในพื้นที่ปลูกป่าหลายโครงการประมาณ 400,000 ไร่ จนได้สมการสำหรับชุมชนที่จากเดิมที่ต้องบุกรุกป่าเพื่ออยู่รอด มาเป็นดูแลป่าเพื่ออยู่รอด มีความยินดีที่พันธกิจของมูลนิธิได้ขยายไปพร้อมกับการทำงานกับภาคธุรกิจ
“การมีราชกรุ๊ปเป็นพันธมิตรในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าฯ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงตลาดทุนและภาคประชาชน รวมถึงการทำรายงานของบริษัทในตลาดทุนบนพื้นฐานใหม่ที่ยึดแนวทาง ESG”
หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าว
ด้านคุณชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงการเร่งมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก และหนึ่งวิธีที่บริษัทจะดำเนินการคือสนับสนุนการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติ ผ่านโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่มุ่งเน้นการทำงานในป่าชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่ราชกรุ๊ปร่วมกับกรมป่าไม้ดำเนินการมากว่า 15 ปี เพื่อรักษาพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน
“เชื่อว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และราชกรุ๊ปมั่นใจและภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ด้วยเห็นถึงความสำเร็จในงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ หรือโครงการอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
คุณชูศรี ระบุ
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นผลมาจากช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน Energy Transition ที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608 ตามการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 ราชกรุ๊ปในฐานะบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าและลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าชั้นนำของประเทศ จึงเบนเข็มขยายแผนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนจาก 19% เป็น 40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า และให้ความสำคัญในมิติของสิ่งแวดล้อมที่พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นองค์กร ESG เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ