มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะผู้แทนของประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐสภากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการจัดการปัญหาภาวะโลกรวนกับรัฐภาคี ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Together For Implementation” มีการหารือที่สำคัญคือเรื่องเงินทุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะโลกรวนจากประเทศที่สร้างมลภาวะ ณ เมืองชาร์มเอลชีค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565
ระหว่างการประชุม COP27 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้จัดกิจกรรมคู่ขนานเป็นงานเสวนาหัวข้อ “Community and carbon credit: a synergy between nature conservation and community empowerment” ในพื้นที่ Thailand Pavilion โดยนำเสนองานพัฒนาที่สนับสนุนให้ชาวบ้านปกป้องป่าชุมชนในพื้นที่ ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตที่ได้มาตรฐาน ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านจากการดูแลผืนป่า หลังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบรับรองคาร์บอนเครดิตในประเทศที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการยกระดับไปสู่มาตรฐานนานาชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาและอเมริกาใต้ให้ความสนใจในโมเดลดังกล่าว
สอดคล้องกับความเห็นของ South Pole บริษัทที่ปรึกษาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกชั้นนำ ที่มองภาพรวมของตลาดคาร์บอนโลก โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของคาร์บอนเครดิตในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมองว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องคาร์บอนเครดิตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
เวที COP (Conference of the Parties) เป็นการประชุมระดับสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ที่รัฐภาคี 195 ประเทศ จะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมหารือกันทุกปี โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5°C เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม