ภาพ: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
บทความโดย
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
และ สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ปัญหาภาวะโลกรวน ความยากจน และการขยายพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรม ทั้ง 3 สาเหตุนี้เชื่อมโยงถึงกันแบบแยกไม่ออก การดูแลป่าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
- ในช่วงปี 2544 – 2562 ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียพื้นที่ป่าไป 610,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศ
- โครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครอบคลุม 49 ชุมชนทั่วประเทศไทย กิจกรรมของโครงการช่วยปกป้องป่าราว 1 ล้านไร่ จากเหตุการณ์ไฟป่า
การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม นับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการสูญเสียป่าไม้ และส่งผลอย่างรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างปี 2544-2562 เราพบเห็นการสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 610,000 ตร.กม. ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ความแห้งแล้ง และปริมาณน้ำฝนที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ผลักดันให้เกษตรกรขยายพื้นที่ทำกินเพื่อความอยู่รอด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจนำไปสู่การสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจรายปีทั่วโลกถึง 4% ภายในปี 2593
ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การแก้ปัญหาที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions – NbS) และการดำเนินการเพื่อปกป้อง จัดการ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนในประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแนวทางที่นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน นอกเหนือจากการรักษาพื้นที่สีเขียว
ทั้งนี้การใช้ NbS เพื่อหยุดการขยายที่ดินเพื่อการทำเกษตรกรรม จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายกลุ่ม เช่น รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคนักวิชาการด้านป่าไม้ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น แต่เนื่องจากกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนและขาดผู้ลงมือทำจริง การนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้มาสู่วงความร่วมมือยังเป็นอุปสรรคสำคัญ
โมเดลป่าชุมชนของประเทศไทย – ป่าสมบูรณ์นำมาซึ่งความเติบโตและเจริญก้าวหน้าของชุมชน
โครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชนเพื่อความยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและพันธมิตร แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนการขยายที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรให้เป็นการดูแลป่า โดยต้องเริ่มจากการสร้างแหล่งรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่จะช่วยให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องผืนป่าอย่างยั่งยืน
โครงการดังกล่าวเชื่อมประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น “ภาครัฐ” ในการอนุญาตให้ใช้ที่ดินสำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา(โครงการ REDD+) “ภาคเอกชน” ที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการ และชุมชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการดูแลป่า
โครงการสนับสนุนชุมชนให้ดูแลป่าและวัดการกักเก็บคาร์บอน ที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการขายคาร์บอนเครดิต ผู้บริจาคภาคเอกชนจะสนับสนุนเงินทุนสำหรับกิจกรรมพัฒนาและการจัดการป่าไม้ อีกทั้งบ่มเพาะความคิดริเริ่มทางธุรกิจในท้องถิ่นด้วย แทนการจ่ายเงินเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นโครงการในปี 2564 ชุมชนดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีป่าชุมชนคิดเป็นพื้นที่ 981 ไร่ และทางชุมชนได้รับเงินทุนเพื่อเริ่มโครงการคาร์บอนเครดิตรราว 9.61 ล้านบาท
หมู่บ้านต้นผึ้ง ชุมชนดอยสะเก็ด นำเงินทุนที่ได้ทำเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนา และจัดตั้งวิสาหกิจท้องถิ่นผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากใบไม้แห้งที่นับเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจนี้สร้างรายได้แก่สมาชิกในชุมชนเฉลี่ย 2.77 แสนบาทต่อปี และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment- SROI) ของหมู่บ้านต้นผึ้งอยู่ที่ 1.26
นอกจากนี้ยังมีการตั้งกองทุนดูแลป่า สนับสนุนให้ชุมชนสร้างแนวกันไฟ และจัดเวรยามลาดตระเวนป้องกันไฟป่า ซึ่งช่วยลดพื้นที่ที่ถูกทำลายจากไฟป่าจากค่าเฉลี่ย 4,638 ไร่ ลดลงเหลือ 2,300 ไร่ ระหว่างปี 2564-2565 ในปีที่ผ่านมา (2565) มีพื้นที่ป่าเกิดไฟป่าเพียง 1,225 ไร่ นับว่าลดลงอย่างมากถึง 17.24% หลังจากดำเนินโครงการมา 2 ปี
โครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ครอบคลุม 49 ชุมชน มีพื้นที่มากกว่า 50,000 ไร่ ทั่วประเทศ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และพันธมิตรมีเป้าหมายจะขยายขอบเขตการดูแลป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยตั้งเป้าครอบคลุมพื้นที่ป่า 1,000,000 ไร่ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนกว่า 1,100 แห่ง และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ประมาณ 300,000-500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในจุดวิกฤต
หากเปรียบเทียบการปลูกป่าใหม่หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน การดูแลป่าไม่ได้ผลิตคาร์บอนเครดิตได้มากนัก
ทว่า การปกป้องป่าไม้สามารถสร้างประโยชน์ร่วมในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนทุกชีวิตบนโลก หากปราศจากความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ พืช และจุลินทรีย์ โลกจะไม่มีระบบนิเวศที่ดีที่ ช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกชีวิตได้หายใจ หรือแม้แต่สร้างแหล่งอาหารที่กินใช้อยู่ในทุกวันนี้
ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (Planetary Boundaries) บ่งชี้ว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้นรุนแรงยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยายที่ดินทำกิน เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนหยุดบุกรุกพื้นที่ป่า และหยุดขยายพื้นที่เกษตรกรรม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้ว่าโครงการปลูกป่าใหม่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มพื้นที่ป่าได้มาก แต่โครงการ REDD+ ซึ่งมุ่งเน้นให้ชุมชนปกป้องผืนป่าเดิม จะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่เหลืออยู่ของเราได้ เพราะหากปล่อยให้ความหลายหลายทางชีวภาพหายไป ต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยกว่า 120 ปีในการฟื้นตัวเลยทีเดียว
ความหลากหลายทางชีวภาพดำรงอยู่ด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต
ประเทศต่าง ๆ ยังขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่จะมุ่งดำเนินนโยบายป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ แต่ยังส่งผลต่อทุกสรรพสิ่งบนโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้การอนุรักษ์ธรรมชาติและสร้างรายได้ให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในป่า มักถูกมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สวนทางกัน
จากตัวอย่างโครงการของประเทศไทย จะเห็นว่าการสร้างแรงจูงใจจากคาร์บอนเครดิต อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องธรรมชาติพร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนไปพร้อมกันได้ โดยต้องวางแผนการดำเนินโครงการที่ดี เพิ่มความตระหนักรู้ สร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดูแลป่า และออกแบบกิจกรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา
ด้วยความพยายามนี้ อาจจะยังมีความหวังในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไว้ได้ต่อไป
บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษ How do carbon credits stop poverty and agricultural land conversion? (https://bit.ly/3WtgYqL) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานประชุมประจำปี World Economic Forum 2023 จัดขึ้นภายใต้ธีม “ความร่วมมือในโลกที่แตกเป็นเสี่ยง” ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางจัดการปัญหาภาวะโลกรวน ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการเผาผลาญพลังงานสิ้นเปลืองที่เป็นฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมในปี 2565 (ค.ศ. 2022)